วันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

รัฐบาลไทย(คณะรัฐมนตรี)


รัฐบาลไทย(คณะรัฐมนตรี)






คณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรี หรือที่นิยมเรียกกันว่ารัฐบาล เป็นคณะบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฐสภาให้ใช้อำนาจบริหาร มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและบริหารประเทศให้เป็นไปตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา เพื่อความผาสุก ความปลอดภัย และความสงบของประชาชนทั้งประเทศ

คณะรัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่
คณะรัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินให้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งสรุปความสำคัญของคณะรัฐมนตรีได้ดังนี้
1. คณะรัฐมนตรีเป็นองค์กรฝ่ายบริหารที่มีอำนาจหน้าที่ในการใช้กฎหมาย กล่าวคือเป็นคณะบุคคลที่ทำให้กฎหมายมีผลบังคับใช้หลังจากที่รัฐสภาได้ตรากฎหมายออกมาแล้ว เช่น รัฐสภาออกพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการจัดตั้งศาลภาษีอากรกลาง คณะรัฐมนตรีก็จะต้องจัดตั้งศาลภาษีอากรกลางขึ้นมา ซึ่งจะทำให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ รัฐสภาออกพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีอากร คณะรัฐมนตรีก็มีหน้าที่จัดเก็บภาษีตามที่พระราชบัญญัติกำหนดไว้ เป็นต้น
2. คณะรัฐมนตรีเป็นองค์กรที่มีอำนาจตามกฎหมายมากมาย สามารถกำหนดนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดินได้ตามแนวคิดของคณะรัฐมนตรีคณะนั้นๆ มีอำนาจในการควบคุมบังคับบัญชาข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐทั่วประเทศ
3. คณะรัฐมนตรีมีอำนาจทางการเมืองทั้งภายในประเทศและนอกประเทศ คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจทางการเมืองภายในประเทศด้วยในการบริหารราชการแผ่นดิน และใช้อำนาจทางการเมืองภายนอกประเทศในการติดต่อกับต่างประเทศแทนรัฐหรือชาติไทย การกระทำนั้นผูกพันกับประเทศ



อำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี
อำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 รวมทั้งตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา และระเบียบต่างๆ ตลอดจนตามประเพณีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยมีอยู่มากมายด้วยกัน สรุปได้ดังนี้
1. กำหนดนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดิน ตามนโยบายที่แถลงขอความเห็นชอบจากรัฐสภา
2. ควบคุมข้าราชการประจำให้นำนโยบายไปปฏิบัติให้บังเกิดผล
3. ประสานงานกับกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เพื่อให้กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกันได้ร่วมมือกันปฏิบัติงาน
4. กำหนดระเบียบหรือข้อบังคับให้กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ คณะรัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่จะกำหนดระเบียบหรือข้อบังคับในเรื่องต่างๆ เท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย เพื่อให้กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ
5. พิจารณาและมีมติในเรื่องต่างๆ ที่กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ เสนอมาให้คณะรัฐมนตรีวินิจฉัยชี้ขาด ทั้งนี้เนื่องจากในการดำเนินงานของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ย่อมจะต้องมีปัญหาเกิดขึ้นเสมอ ทั้งเรื่องเกี่ยวกับนโยบาย เรื่องใหม่ซึ่งควรจะให้คณะรัฐมนตรีกำหนดเป็นนโยบายหรือเรื่องซึ่งมีลักษณะเป็นงานประจำ ที่กฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับได้กำหนดให้ต้องขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี
เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินดำเนินไปตามนโยบายของรัฐบาล และเพื่อกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการต่างๆ ให้ชัดเจน ไม่ซ้ำซ้อนกัน จึงได้ตรากฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินขึ้น ปัจจุบันนี้ใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 ซึ่งจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินออกเป็น 3 ส่วน คือ ระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง ระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค และระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น



1. ระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง
แบ่งส่วนราชการออกเป็นกระทรวง และส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกระทรวง ดังนี้
1.1 สำนักนายกรัฐมนตรี มีฐานะเป็นกระทรวง มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ มีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี และมีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับผิดชอบและบัญชาข้าราชการประจำรองนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตี และรัฐมนตีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
สำนักนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการทั่วไปของนายกรัฐมนตีและคณะรัฐมนตรีรับผิดชอบการบริหารราชการทั่วไป เสนอแนะนโยบายและวางแผนพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และความมั่นคง และราชการเกี่ยวกับการงบประมาณ ระบบราชการ การบริหารงานบุคคล กฎหมาย และพัฒนากฎหมาย การติดตามและประเมินผลการปฏิบัติราชการ การปฏิบัติภารกิจพิเศษ และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักนายกรัฐมนตี หรือส่วนราชการที่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี หรือที่มีได้อยู่ภายในอำนาจหน้าที่ของกระทรวงใดโดยเฉพาะ
1.2 กระทรวง แต่ละกระทรวงมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการ มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง เป็นผู้ช่วย มีปลัดกระทรวงเป็นผู้รับผิดชอบและบังคับบัญชาข้าราชการประจำในกระทรวงรองจากรัฐมนตรี
ในแต่ละกระทรวงจะมีอำนาจหน้าที่ตางกันตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 โดยให้มีกระทรวงและส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกระทรวงทั้งสิ้น 20 กระทรวง ดังนี้
(1) สำนักนายกรัฐมนตรี (ได้กล่าวมาแล้ว)
(2) กระทรวงกลาโหม มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการป้องกันและรักษาความมั่นคงของราชอาณาจักรจากภัยคุกคามทั้งภายนอกและภายในประเทศ การรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ สนับสนุนการพัฒนาประเทศ และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงกลาโหม หรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงกลาโหม
(3) กระทรวงการคลัง มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเงินการคลังแผ่นดิน การประเมินราคาทรัพย์สิน การบริหารพัสดุภาครัฐ กิจการเกี่ยวกับที่ราชพัสดุ ทรัพย์สินของแผ่นดิน ภาษีอากร การรัษฎากร กิจการทำรายได้ที่รัฐมีอำนาจดำเนินการให้แต่ผู้เดียวตามกฎหมาย และไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการอื่น การบริหารหนี้สาธารณะ การบริหารและการพัฒนารัฐวิสาหกิจและหลักทรัพย์ของรัฐ และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงการคลังหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงการคลัง
(4) กระทรวงการต่างประเทศ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการต่างประเทศและราชการอื่นตามที่ได้มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศ หรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ
(5) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การกีฬา การศึกษาด้านกีฬา นันทนาการ และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหนาที่ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
(6) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการพัฒนาสังคม การสร้างความเป็นธรรมและความเสมอภาคในสังคม การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพและความมั่นคงในชีวิต สถาบันครอบครัวและชุมชน และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
(7) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับเกษตรกรรม การป่าไม้ การจัดหาแหล่งน้ำและพัฒนาระบบการชลประทาน ส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร ส่งเสริมและพัฒนาระบบสหกรณ์ รวมตลอดทั้งกระบวนการผลิตและสินค้าเกษตรกรรมและราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
(8) กระทรวงคมนาคม มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการขนส่ง ธุรกิจการขนส่ง การวางแผนจราจร และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม และส่วนราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้ เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงคมนาคม หรือส่วนราชการอื่นที่สังกัดกระทรวงคมนาคม
(9) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการสงวนอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การจัดการการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
(10) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการวางแผนส่งเสริม พัฒนา และดำเนินกิจการเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การอุตุนิยมวิทยา และการสถิติ และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
(11) กระทรวงพลังงาน มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการจัดหา พัฒนาและบริหารจัดการพลังงาน และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของกระทรวงพลังงานหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงพลังงาน
(12) กระทรวงพาณิชย์ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการค้า ธุรกิจบริการ ทรัพย์สินทางปัญญา และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์หรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงพาณิชย์
(13) กระทรวงมหาดไทย มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบำบัดทุกข์บำรุงสุข การรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน การอำนวยความเป็นธรรมของสังคม การส่งเสริมและพัฒนาการเมืองการปกครอง การพัฒนาการบริหารราชการส่วนภูมิภาค การปกครองส่วนท้องที่ การส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและพัฒนาชุมชน การทะเบียนราษฎร ความมั่นคงภายในกิจการสาธารณภัย และการพัฒนาเมืองและราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงมหาดไทย
(14) กระทรวงยุติธรรม มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการกระบวนการยุติธรรม เสริมสร้างและอำนวยความยุติธรรมในสังคม และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงยุติธรรมหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงยุติธรรม
(15) กระทรวงแรงงาน มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารและคุ้มครองแรงงาน พัฒนาฝีมือแรงงาน ส่งเสริมให้ประชาชนมีงานทำ และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงแรงงานหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงแรงงาน
(16) กระทรวงวัฒนธรรม มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับศิลปะ ศาสนา และวัฒนธรรม และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงวัฒนธรรมหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม
(17) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการวางแผน ส่งเสริม และพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
(18) กระทรวงศึกษาธิการ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและกำกับดูแลการศึกษาทุกระดับและทุกประเภท กำหนดนโยบาย แผน และมาตรฐานการศึกษา สนับสนุนทรัพยากรเพื่อการศึกษาส่งเสริมและประสานงานการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และการกีฬาเพื่อการศึกษา รวมทั้งการติดตามตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษา และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
(19) กระทรวงสาธารณสุข มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพอนามัย การป้องกัน การควบคุม และรักษาโรคภัย การฟื้นฟูสมรรถภาพของประชาชน และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของการทรวงสาธารณสุขหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข
(20) กระทรวงอุตสาหกรรม มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรม การส่งเสริมการลงทุน การพัฒนาผู้ประกอบการ และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรมหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม
1.3 กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นมีฐานะเป็นกรม เป็นส่วนราชการที่แบ่งรองลงมาจากกระทรวง มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการส่วนใดส่วนหนึ่งของกระทรวง มีอธิบดีเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของกรมให้เป็นไปตามนโยบาย แนวทางและแผนการปฏิบัติข้าราชการของกระทรวง ในกรมหนึ่งอาจมีรองอธิบดีหรือผู้ช่วยอธิบดี เป็นผู้บังคับบัญชารองจากอธิบดี
1.4 ส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง เป็นส่วนราชการอิสระไม่สังกัดกระทรวง แต่ขึ้นตรงต่อนกยกรัฐมนตรี ได้แก่ สำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ราชบัณฑิตยสถาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และสำนักอัยการสูงสุด อยู่ในบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม



2. ระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค
การบริหารราชการส่วนภูมิภาค เป็นการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินในท้องที่ต่างๆ จากส่วนกลางเพื่อปฏิบัติงานให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และของกระทรวง และกรมต่างๆ โดยแบ่งส่วนราชการออกเป็นจังหวัดและอำเภอ
2.1 จังหวัด จัดตั้งขึ้นโดยตราเป็นพระราชบัญญัติ มาฐานะเป็นนิติบุคคล โดยรวมท้องที่หลายๆ อำเภอขึ้นเป็นจังหวัด และมีส่วนราชการของกระทรวง หรือกรมต่างๆ ไปตั้งอยู่ ณ จังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าบังคับบัญชาบรรดาข้าราชการซึ่งปฏิบัติราชการส่วนภูมิภาคในเขตจังหวัด และเป็นผู้รับนโยบายและคำสั่งจากนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล คณะรัฐมนตรี กระทรวง กรม มาปฏิบัติให้เหมาะสมกับท้องที่
2.2 อำเภอ เป็นส่วนราชการส่วนภูมิภาครองจากจังหวัด อำเภอหนึ่งประกอบด้วยหลายตำบล มีนายอำเภอเป็นหัวหน้าปกครองบังคับบัญชาข้าราชการภายในอำเภอและรับผิดชอบงานบริหารราชการของอำเภอ นอกจากนี้มีปลัดอำเภอและหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอ ซึ่งกระทรวง กรมต่างๆ ส่งมาประจำให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือนายอำเภอ
หน่วยงานรองลงไปจากอำเภอ คือ ตำบล ในแต่ละตำบลมีกำนันเป็นหัวหน้าปกครอง หน่วยงานย่อยรองตำบลลงไป คือ หมู่บ้าน มีผู้ใหญ่บ้านซึ่งได้รับเลือกตั้งจากประชาชนในหมู่บ้านเป็นหัวหน้าปกครอง

3. ระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น
ระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น เป็นการกระจายอำนาจปกครองไปให้ประชาชนมีส่วนในการปกครองท้องถิ่น โดยจัดระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น เป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล และราชการส่วนท้องถิ่นอื่นตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา
3.1 องค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นหน่วยการปกครองที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 มีหน้าที่ดำเนินกิจการด้านการพัฒนา การคุ้มครอง ดูแล และบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการแบ่งสรรเงินให้แก่ราชการส่วนท้องถิ่นอื่น องค์การบริหารส่วนจังหวัดประกอบด้วย สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด
สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งได้รับเลือกตั้งจากราษฎรในจังหวัดนั้น มีจำนวนมากน้อยตามเกณฑ์ของราษฎรในจังหวัด เพื่อทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ
นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ประกอบด้วยนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 คน และรองนายก 2-4 คน ตามเกณฑ์ของสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เพื่อทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร
3.2 เทศบาล การจัดตั้งเทศบาลให้ดูสภาพท้องถิ่นอันสมควรยกฐานะเป็นเทศบาล โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 ซึ่งอาจตั้งเป็นเทศบาลตำบล เทศบาลเมือง หรือเทศบาลนคร ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด เทศบาลประกอบด้วยสภาเทศบาล และคณะเทศมนตรี
สภาเทศบาล ประกอบด้วย สมาชิกซึ่งประชาชนเลือกตั้งขึ้นมาตามกฎหมาย ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ
คณะเทศมนตรี ประกอบด้วย นายกเทศมนตรี และเทศมนตรีตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด คณะเทศมนตรีทำหน้าที่บริหารงานของเทศบาลภายใต้การควบคุมของสภาเทศบาล และมีปลัดเทศบาลเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานเทศบาล และงานประจำของเทศบาล
3.3 สภาตำบล เป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นตาม พระราชบัญญัติสภาตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 มีฐานะเป็นนิติบุคคล สมาชิกสภาตำบลประกอบด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้านของทุกหมู่บ้านในตำบล แพทย์ประจำตำบล และสมาชิกซึ่งได้รับเลือกตั้งจากราษฎรในแต่ละหมู่บ้านในตำบลนั้นเป็นสมาชิกสภาตำบล หมู่บ้านละหนึ่งคน
3.4 องค์การบริหารส่วนตำบล เป็นหน่วยการปกครองที่พัฒนามาจากสภาตำบลตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ซึ่งกำหนดให้ตำบลที่มีรายได้โดยไม่รวมเงินอุดหนุนในปีงบประมาณที่ล่วงมาติดต่อกันสามปี เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละ 150,000 บาท จัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล โดยทำเป็นประกาศกระทรวงมหาดไทยและประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยพ้นสภาพจากสภาตำบลนั้น และมีฐานะเป็นนิติบุคคล
องค์การบริการส่วนตำบล ประกอบด้วย สภาองค์การบริหารส่วนตำบลและคณะกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล
สภาองค์การบริหารส่วนตำบล ประกอบด้วย สมาชิกซึ่งได้รับเลือกตั้งจากราษฎรในตำบลหมู่บ้านละ 2 คน หากตำบลใดมี 1 หมู่บ้าน ให้เลือกสมาชิกได้ 6 คน ถ้าตำบลใดมี 2 หมู่บ้านให้เลือกสมาชิกได้หมู่บ้านละ 3 คน และให้สภาตำบลเลือกสมาชิกเป็นประธานสภา 1 คน เป็นรองประธานสภา 1 คน เพื่อทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ
คณะกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล ประกอบด้วย ประธานกรรมการบริหาร 1 คน และกรรมการบริหาร 2 คน ซึ่งได้รับเลือกจากสภาองค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร
3.5 กรุงเทพมหานคร เป็นการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 (แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 พ.ศ. 2542) มีฐานะเป็นนิติบุคคล การบริหารกรุงเทพมหานครประกอบด้วย สภากรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
สภากรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย สมาชิกซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากราษฎรโดยการแบ่งเขตๆ ละ 1 คน ซึ่งใช้ราษฎรประมาณ 100,000 คน เป็นเกณฑ์ สภากรุงเทพมหานครเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มาจากการเลือกตั้ง โดยประชาชนออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ เพื่อทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร มีรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 4 คน แต่งตั้งโดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีปลัดกรุงเทพมหานครเป็นข้าราชการประจำ เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและลูกจ้างกรุงเทพมหานคร
3.6 เมืองพัทยา เป็นการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษตาม พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542 ประกอบด้วย สภาเมืองพัทยา และนายกเมืองพัทยา
สภาเมืองพัทยา ทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ มีสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยสมาชิกเลือกประธานสภาเมืองพัทยา แล้วเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีแต่งตั้ง
นายกเมืองพัทยา ทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเช่นกัน มีอำนาจหน้าที่บริหารภายในองค์กรซึ่งประกอบด้วยสำนักปลัดเมืองพัทยา และส่วนราชการอื่น
การบริหารส่วนท้องถิ่นเป็นเรื่องอยู่ใกล้ตัวนักเรียน จึงควรทำความเข้าใจ และต่อไปเมื่อนักเรียนพ้นเกณฑ์การศึกษาแล้ว อาจเข้าไปมีส่วนรวมหรือมีบทบาทในองค์การเหล่านี้



การเสริมอำนาจให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ
การที่คณะรัฐมนตรีมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการบริหารประเทศ มีบทบาทหน้าที่ในการพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 จึงมีหลักการที่เป็นมาตรการที่ส่งเสริมให้รัฐบาลมีเสถียรภาพในการบริหารประเทศ มาตรการที่สำคัญ คือ
1. เพิ่มความเข้มแข็งให้พรรคมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อ และพรรคที่ได้คะแนนเสียงต่ำกว่าร้อยละ 5 ไม่มีสิทธิได้ ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อ เพื่อสกัดพรรคเล็กที่เข้ามาในสภาและไม่อาจมีบทบาทได้เต็มที่ แต่อาจสร้างความไร้เสถียรภาพให้รัฐบาลได้ มาตรการนี้จะทำให้พรรคการเมืองใหญ่มีโอกาสดีกว่าพรรคเล็ก
2. การกำหนดให้การยื่นญัตติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีทำยากกว่ารัฐมนตรีอื่น คือต้องใช้เสียง 2 ใน 5 ของจำนวน ส.ส. ทั้งหมด และจะต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีใหม่มาด้วย เพื่อให้นายกรัฐมนตรีอยู่เหนือความกดดันของรัฐมนตรีอื่นในคณะรัฐบาล
3. การไม่ให้รัฐมนตรีเป็น ส.ส. ในขณะเดียวกัน เพื่อแยกหน้าที่นิติบัญญัติกับบริหาร เพื่อให้ควบคุม (ส.ส.) กับผู้ถูกควบคุม (รัฐมนตรี) เป็นคนละฝ่าย แต่ละฝ่ายทำหน้าที่ได้เต็มที่ และที่สำคัญที่สุด ก็เพื่อให้รัฐมนตรีในรัฐบาลผสมต้องประพฤติตนให้อยู่ในวินัยและความรับผิดชอบร่วมกันของคณะรัฐมนตรี และเคารพความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรี เพราะหากถูกนายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำให้พ้นตำแหน่งก็จะกลับเป็น ส.ส. ในสภาต่อไปไม่ได้
นอกจากนี้ ระบบการแยกหน้าที่ใช้คู่กับระบบบัญชีรายชื่อ ก็จะทำให้พรรคการเมืองส่งคนสำคัญของพรรคและคนมีฝีมือลงในบัญชีรายชื่อ เพื่อไม่ให้ต้องเลือกตั้งซ่อม ส.ส. ที่มาจากการแบ่งเขต ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถตัดสินใจเลือกคนเป็นรัฐมนตรีได้ทางอ้อม
4. การป้องกันไม่ให้ ส.ส. ต่อรองกับนายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาล เพื่อผ่านกฎหมายให้โดยกำหนดให้การเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีต้องกระทำโดยเปิดเผย และให้รัฐบาลสามารถนำร่างกฎหมายที่ไม่ผ่านสภาผู้แทนราษฎร เสนอให้ที่ประชุมร่วมของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาพิจารณาอีกครั้งหนึ่งได้
5. ให้รัฐบาลตั้งกระทรวง ทบวง กรม หรือโอนหรือยุบกระทรวง ทบวง กรม ได้โดยพระราชกฤษฎีกา เพื่อแก้ปัญหาของบ้านเมืองได้ทันการ และข้าราชการต้องตื่นตัวกับงานใหม่ๆ อยู่เสมอ หากไม่มีการเพิ่มข้าราชการหรือลูกจ้างใน 3 ปี




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น